Monday, May 23, 2016

ทารก

“แล้วมันจะเอาไปทำอะไรได้?” 

คุ้นๆมั้ยครับ คำถามเชิงประชดประชัน ประมาณนี้จาก ใครบางคน ในที่ทำงาน หรือ ในชีวิตประจำวัน
ซึ่งมักจะถูกถาม ตามมาติดๆ หลังจากที่ คุณตื่นเต้นกับอะไรบางอย่างมากๆ 
มากจนเผลอเสนอ “ความคิดแปลกๆ” ออกไป โดยที่อาจจะยังไม่ได้คิดถี่ถ้วนเท่าไร
ยังจำความรู้สึก ได้มั้ยครับ 
ความกระตือรือร้น ความตื่นเต้น ในความเป็นไปได้ ที่อาจจะยังไม่ชัดเจนนัก 
ถูกเปลี่ยนเป็น ความกระอักกระอ่วน ความขวนเขิน ปน ความเซ็ง ภายในชั่วพริบตา 
ยิ่งถ้า “หัวหน้า” เป็นคนถาม และ ถามต่อหน้าคนหมู่มาก 
เราก็อาจจะ ยิ้มแหะๆ และ แอบกระซิบเบาๆกับตัวเองว่า 
“ฉันไม่น่าพูดออกไปเล้ยยยย” 

ตอนที่ผมศึกษาเรื่อง “การสร้างนวัตกรรม” ผ่าน “ความคิดเชิงออกแบบ”
หรือที่เรียกว่า “ดีไซน์ ติ้งกิ้ง (Design Thinking)” ที่อเมริกา 
ผมยังจำเหตุการณ์ในวันแรกๆได้แม่น ตอนที่เรียนเรื่องการ “ระดมสมอง” 
อาจารย์ในชั้นเรียน เล่าถึง อาจารย์อีกท่านหนึ่งในมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด 
ชื่อว่า “ลีนุส พอลลิ่ง (Linus Pauling)” 
อาจารย์ภาควิชาเคมี ที่เคยได้รับ “รางวัลโนเบล” ในสาขาวิทยาศาสตร์
ไม่ใช่แค่ครั้งเดียว แต่ ถึง “สองครั้ง” ด้วยกัน
เรียกได้ว่า “อัจฉริยะ” คนหนึ่งของโลกก็ว่าได้ 
เคยมีคนถามเขาว่า “ท่านสร้างสิ่งใหม่ๆออกมามากมายได้อย่างไร” 
“หนทางที่ดีที่สุด ในการได้มาซึ่งความคิดดีๆ ก็คือ การมีความคิดจำนวนเยอะๆ” เขาตอบ 

บทเรียนแรกในเรื่องของการ “ระดมสมอง” 
คือ การเน้น “ปริมาณ” ไม่ใช่ “คุณภาพ” 
หา ….. อะไรนะ 
ใช่ครับ คุณอ่านไม่ผิด 
“เน้นปริมาณ ไม่เน้น คุณภาพ” คือ หนทางสู่นวัตกรรม 
หมายถึงว่า ความคิดจะดูบ้าบอ แค่ไหนก็ไม่ว่ากัน ขอให้คิดออกมาเยอะๆก่อน
ฟังดู “ไม่ยาก” ใช่มั้ยครับ 
ทีนี้ อาจารย์ผมเลยให้ลองทำ “กิจกรรมระดมสมอง” ดู โดยให้โจทย์ ระดมสมองมาว่า 
“เสื้อผ้าเก่าๆที่บ้าน เอาไปทำอะไรได้บ้าง”
ง่ายสิครับ ผมกับเพื่อนๆ ก็ช่วยกันคิดกันสนุกสนาน 
“เอาไปใช้เป็นผ้าขี้ริ้ว”
“เอาไปบริจาคให้คนที่เขาไม่มี” 
“เอาไปซักแล้วขายเป็นเสื้อผ้ามือสอง”
“เอาไปแลกกับเพื่อน”
“เอาไป ……..” 
เริ่มตันครับ คิดไม่ออกละ หันไปหันมา ก็เจออาจารย์กำลังเดินดุ่มๆมาที่กลุ่มเรา 
 “ผมบอกว่าเน้นปริมาณ ไม่ใช่ คุณภาพ ทำไมได้น้อยจัง” อาจารย์ถาม
พวกเราก็บอกว่า “ก็มันคิดได้ประมาณนี้ครับ ที่พอจะเป็นไปได้” 
อาจารย์บอกซ้ำ “เน้นปริมาณ ไม่เน้นคุณภาพ ไม่เน้นความเป็นได้ เน้นจำนวน” 
พวกเราก็งงๆ ก็มันคิดได้เท่านี้ คิดไม่ออกแล้ว 
อาจารย์แกเลยเขียน อะไรสักอย่างลงบนกระดาษ “โพส-อิท” 
แล้วแปะลงบนกระดานต่อหน้าพวกเรา พร้อมหัวเราะเล็กๆ และ เดินไปตรวจงานกลุ่มอื่นต่อ 
พวกเราทุกคนดูกระดาษใบนั้น และ อ่านพร้อมกัน
 “เอาไว้เป็นอาหารเช้า ”
!?!?!?!?!?!?!!?!?!?!?!?!?!?!?
อึ้ง ทึ่ง เสียว ฮก หลก ซิ่ว …… นี่เราเรียนอะไรกันอยู่ อาจารย์ท่าจะบ้าไปแล้วแน่ๆ 
นี่ “ผ้า” นะเฟร้ยยยย ไม่ใช่ “มันสำปะหลัง”  จะเอาไป “กิน” ได้อย่างไร
ในขณะที่ผมและเพื่อนๆกำลัง งงๆ อยู่นั้นเอง 
อาจารย์ก็เดินกลับมา ยิ้มเยาะ พร้อมย้ำกับเด็กๆที่กำลังจะได้ “บทเรียน” อีกที
“เน้นปริมาณ ไม่เน้น คุณภาพ ผมบอกคุณแล้วใช่มั้ย” 
เราก็เริ่มถึงบางอ้อ กันทีละคน สองคน 
ถึงแม้ว่า อาจารย์สั่งให้ คิดออกมาเยอะๆ ก่อน ไม่ต้องคิดถึง “ความเป็นไปได้”
แต่ สมองของเรา ระบบการคิดเก่าๆของเรา ที่อาจจะได้มาจากระบบการศึกษาที่เน้น “ความถูกต้อง” 
หรือแม้แต่ การทำงานที่ยกย่อง “ความมีเหตุมีผล” มากกว่า “ความคิดนอกกระแส”
ทำให้เรา “ติดกรอบ” ของความเป็นไปได้ ติดกับดัก “มุมมองแคบๆ” ของเราเอง
คงจะต้องยอมรับว่า“การพูดอะไรที่ดูจะเป็นไปไม่ได้” หรือ “การนำเสนอความคิดที่ดูบ้าบอ” นั้น 
เป็นเรื่องที่เรา “ไม่ถนัด” 
เพราะฉะนั้น ไอ้ตอนแรกที่เราคิดว่า การหาปริมาณความคิดเยอะๆ แบบที่ ลีนุส พอลลิ่ง แนะนำไว้ นั้น ทำได้ง่ายๆ 
จริงๆแล้ว “ไม่ง่าย” เลย
บทเรียนสำคัญของ “การสร้างนวัตกรรม” 
จะระดมสมองได้ดี ต้องเน้น “ปริมาณ” 
จะเป็น “นวัตกร” ที่ดี ต้องก้าวข้ามเรื่อง “ความเป็นไปไม่ได้” ในใจของเราก่อน 
จะว่าไป เสื้อผ้าที่กินได้ ก็ ไม่ใช่เรื่องที่จะ “เป็นไปไม่ได้” ซะทีเดียว 
เนื้อผ้าที่ทำจาก “เส้นใยธรรมชาติ” ท้องเราก็อาจจะย่อยได้ ใครจะไปรู้ 
จะเป็นไปได้ หรือ ไม่ได้ มันก็อาจจะเป็นแค่เงื่อนไขของ เวลา เทคโนโลยี หรือ พฤติกรรมมนุษย์ ที่เปลี่ยนไป แค่นั้นเอง

นอกจากคุณ “หนุ่มเมืองจันท์” แล้ว ผมยังมีนักเขียนอีกท่านเป็น  “ไอดอล” ครับ 
เขาคนนั้นชื่อ “พี่จิก ประภาส ชลศรานนท์” เบื้องหลังความสำเร็จของบริษัท เวิร์คพอยท์ และ วงเฉลียง 
เป็นทั้งนักเขียน นักแต่งเพลง คนทำรายการทีวี นักวาดภาพ หรือแม้แต่ สถาปนิก
ด้วยประสบการณ์การทำงานด้าน “ศิลปะ” หลากหลายแขนง
จะเรียกว่า พิ่จิก เป็นคนที่มี “ความคิดสร้างสรรค์” มากที่สุดคนหนึ่งในประเทศ ก็คงจะไม่ผิดนัก
ผมชอบที่พี่จิกเขียนไว้ในหนังสือโปรดเล่มหนึ่งชื่อว่า “ประโยคย้อนแสง” 
“ความคิดใหม่ๆนั้นบอบบางเหลือเกิน 
มันฉีกขาดด้วยคำท้วงเบาๆ หรือ ถูกแทงให้ทะลุขาดวิ่นด้วยการทำหน้านิ่วคิ้วขมวดใส่ 
แม้แต่ประโยคสั้นๆว่า มันจะเป็นไปได้หรือ ก็ทำให้ความคิดใหม่ๆระเหิดหายไปได้
… เราต้องปกป้องมันด้วยแรงที่มีทั้งหมดนั่นแหละ 
เราจึงพามันไปเปลี่ยนแปลงโลกรอบๆตัวเราได้ …”
เพล้งงง ….. “แตกฉาน” ได้ด้วยตัวเอง 
ขอคารวะ พี่จิก สองจอก ครับ

กลับมาเล่าต่อถึง “คำถามจั่วหัว” ข้างต้น 
“มันจะเอาไปทำอะไรได้?” 
ไมเคิล ฟาราเดย์ นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ
เจ้าของทฤษฎี “การเหนี่ยวนำแม่เหล็กไฟฟ้า” ที่เป็นพื้นฐานของ “นวัตกรรม” มากมายในยุคนี้ 
เคยนำเสนอทฤษฎีนี้ ต่อ “วิลเลียม แกลดสโตน” รัฐมนตรีการคลังของอังกฤษ ในขณะนั้น
“แล้วไอ้ที่คุณค้นพบเนี่ย มันเอาจะเอาไปทำอะไรได้ล่ะ” เขาถามด้วยความประชดประชัน
เป็นคุณจะรู้สึกอย่างไร และ จะตอบกลับไปว่าอย่างไร 
……………………………………
ฟาราเดย์ ตอบ “แล้วเด็กทารกมีประโยชน์อะไรบ้างล่ะท่าน …. “
แกลดสโตน อึ้งกับคำตอบ ยังไม่ทันจะได้เปิดปากถามต่อ ฟาราเดย์ก็สรุปอย่างคมคายว่า  
“ถ้าเราดูแลเด็กทารกดีๆ สักวันหนึ่ง เขาจะกลับมาจ่ายให้ภาษีให้แก่ประเทศอย่างแน่นอน … “
ครับ …  “ความคิดใหม่ๆ” ก็เช่นกัน

ขอบคุณบทความดีๆ จาก ธุรกิจพอดีคำ (5 พ.ค. 2559) กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร และเฟซบุคเพจ แปดบรรทัดครึ่ง

No comments:

Post a Comment